มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทยเป็นอันดับสองรองจากมะเร็งปากมดลูก อัตราเฉลี่ยของผู้หญิงที่เป็นโรคนี้คือ ๑ ใน ๙ ของผู้หญิงทั้งหมด มักเกิดในหญิงอายุ ๔๐ ปีขึ้นไปและพบมากในหญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย หรือผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม
สาเหตุการเกิดโรค ยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ในทางระบาดวิทยาพบว่า อาหารที่มีไขมันสูงมีส่วนทำให้เกิดโรคได้ อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพียงดูแลตัวเองดังนี้
พักผ่อนอย่างเพียงพอ : การนอนหลับตั้งแต่ช่วงเวลา ๒๒๐๐ – ๐๖๐๐ จะกระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนชนิดหนึ่งที่ชื่อว่า Melatonin ซึ่งมีผลกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย ป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ
รับประทานกรดโฟลิค ( Folic Acid ) : ผู้หญิงที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า ๒ แก้วต่อวัน หากไม่ได้รับกรดโฟลิคเสริม มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมสูงเนื่องจากแอลกอฮอล์มีผลต้านการทำงานของกรดโฟลิคในการสร้างสารดีเอ็นเอ ดังนั้นนักดื่มทั้งหลายหากงดรับประทานแอลกอฮอล์ไม่ได้ก็ควรเสริมกรดโฟลิคอย่างน้อย ๘๐๐ ไมโครกรัมต่อวัน
รับประทานถั่วเหลือง : ถั่วเหลืองมีบทบาทสำคัญในการป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านมเนื่องจากถั่วเหลืองมีสารไอโซฟลาโวน ( Isoflavone ) ซึ่งมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและออกฤทธิ์คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน อาจนำถั่วเหลืองมาบริโภคโดยตรง หรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นๆก่อนบริโภคก็ได้
เสริมด้วยเมล็ดลินิน ( Flaxseed ) : เมล็ดลินินช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งเต้านม และยับยั้งการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง เนื่องจากเมล็ดลินินอุดมไปด้วยกรดไขมันจำเป็นกลุ่ม Omega – ๓ ไฟเบอร์ปริมาณสูง และสารลิกแนน ซึ่งเป็นส่วนของเยื่อหุ้มเมล็ดที่มีผลต่อต้านเซลล์มะเร็ง
เลือกรับประทานปลา : เนื่องจากกลุ่ม Omega – ๓ ที่พบในปลาเป็นองค์ประกอบสำคัญในการป้องกันการเกิดมะเร็ง จะลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
ต้านภาวะการอักเสบ ( Anti inflammatory ) : การเกิดภาวะอักเสบเป็นสาเหตุหนึ่งที่อาจทำให้เกิดมะเร็งในเวลาต่อมาได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์ต้านภาวะอักเสบเช่น ขิง ขมิ้นชัน ชาเขียว หรือน้ำมันปลา อาจลดความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม อีกทั้งอาหารเหล่านี้ไม่มีผลข้างเคียงกับระบบทางเดินอาหารเหมือนกับยาแอสไพริน ซึ่งฤทธิ์ต้านการอักเสบเช่นเดียวกัน แต่ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
การบริโภคชาเขียว : ชาเขียวนอกจากจะมีฤทธิ์ต้านการอักเสบแล้วยังมีฤทธิ์ต้านมะเร็งอีกด้วย จากการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นพบว่า การบริโภคชาเขียวเป็นประจำ อาจเพิ่มอัตราการรอดชีวิต และลดการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งเต้านมในระยะขั้นต้นได้
ข้อแนะนำ
ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ ๑ ครั้ง
ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการตรวจคือ ๗ วันหลังจากมีประจำเดือน
หากพบสิ่งผิดปกติใดๆ บริเวณเต้านมควรรีบปรึกษาแพทย์ทันที
พบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมปีละ ๑ ครั้ง เมื่ออายุ ๓๐ ปีขึ้นไป
มะเร็งเต้านมรักษาหายขาดได้ หากตรวจพบในระยะเริ่มแรก
7/10/2008
มะเร็งเต้านมป้องกันได้
Posted by
udomphol dormitery
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment