ปวดศีรษะเป็นอาการที่พบบ่อยมากในคนทั่วโลก ในแต่ละปีมีผู้ปวดศีรษะมากถึง 3 ใน 4 คน ส่วนน้อยของผู้ที่ปวดศีรษะเท่านั้นที่จะเป็นโรคร้ายแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ โรคหลอดเลือดสมอง เนื้องอกในสมอง สาเหตุส่วนใหญ่ของอาการปวดศีรษะเกิดจากปวดจากความตึงเครียด (tension-type headache) และไมเกรน
ไมเกรน
ไมเกรนเป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่พบมากเป็นอันดับ 2 รองจาก Tension-type headache พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย 3 เท่า มีอาการปวดศีรษะรุนแรง มักปวดซีกใดซีกหนึ่งของศีรษะ หรืออาจปวดทั้ง 2 ซีกก็ได้ ร่วมกับอาการทางระบบประสาท มักเริ่มเป็นครั้งแรกในวัยแรกรุ่นหรือวัยหนุ่มสาว พบบ่อยในหญิงวัยเจริญพันธุ์และมักจะมีอาการก่อนมีประจำเดือน อาการน้อยลงในวัยหมดประจำเดือน อุบัติการณ์สูงขึ้นในผู้ที่มีความเกี่ยวข้องทางพันธุกรรม ลักษณะอาการมีได้ 2 แบบ ซึ่งอาจมีอาการแบบใดแบบหนึ่งหรือทั้ง 2 แบบ (33%) ก็ได้
Common migraine (migraine without aura) เป็นไมเกรนชนิดที่ไม่มีอาการเตือน พบราว 75% ของผู้ที่ปวดศีรษะทั้งหมด มีอาการดังนี้
ปวดศีรษะตุ้บๆ มักเป็นซีกใดซีกหนึ่ง หรือปวดทั้ง 2 ซีก ค่อยๆ ปวดมากขึ้นเรื่อยๆ หากไม่ได้รับการรักษา อาจปวดเป็นชั่วโมงหรือเป็นวัน (4-72 ชั่วโมง) อาการปวดเป็นมากขึ้นเมื่อถูกกระตุ้นด้วยการเคลื่อนไหว แสง หรือเสียง
คลื่นไส้ อาเจียน
กลัวแสง (photophobia)
กลัวเสียง (phonophobia)
Classic migraine (migraine with aura) เป็นไมเกรนที่มีอาการเตือน พบราว 33% ของทั้งหมด มีอาการดังนี้
อาการเตือน เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เห็นแสงวูบวาบ การมองเห็นผิดปกติ ได้ยินเสียง หรือได้กลิ่นแปลกๆ เวียนศีรษะ ชาซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย อาการเหล่านี้มักจะเกิดก่อนปวดศีรษะประมาณ 5-60 นาที และจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นใน 4-60 นาที
ปวดศีรษะแบบเดียวกับ common migraine แต่เฉียบพลันกว่า อาจปวดพร้อมอาการเตือนหรือภายใน 60 นาทีหลังอาการเตือน มักปวดนาน 2-6 ชั่วโมง และทุเลาหลังนอนพักผ่อน
ไวต่อแสง (sensitivity to light)
อ่อนแรงซีกใดซีกหนึ่งของร่างกาย (พบน้อย)
สาเหตุ
ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่การปวดศีรษะเกิดจากการขยายตัวของหลอดเลือด ซึ่งกระตุ้นปลายประสาทที่ผนังหลอดเลือด
สิ่งที่กระตุ้นให้เกิดอาการปวดศีรษะ
ความตึงเครียด เช่น ความโกรธ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ การทำงานหรือออกแรงหักโหมจนเกินกำลัง (over exertion) การเดินทางไกล การออกกำลังกายหนัก
อาหาร เครื่องดื่ม หรือเครื่องปรุงบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ เนยแข็ง ช็อกโกเลต อาหารที่มีไขมัน หรือ tyramine สูง หัวหอม ผงชูรส สารไนเตรท ผลไม้ที่มีรสเปรี้ยว เช่น ส้ม มะเขือเทศ
ปัจจัยทางพันธุกรรม
อุบัติเหตุที่ศีรษะ
แสงจ้า หรือเสียงดัง
การอดอาหารและความหิว
การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน เช่น การมีประจำเดือน กินยาคุมกำเนิด
การดูแลตนเอง
นอนในห้องที่มืดและเงียบสงบ
ประคบเย็นบริเวณที่ปวด
อาบน้ำเย็น
กินยาแก้ปวดเมื่อเริ่มมีอาการ
หาสาเหตุที่เป็นตัวกระตุ้นให้ปวดศีรษะและหลีกเลี่ยงเสีย
หากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์
การรักษาโดยแพทย์
ตรวจหาโรครุนแรงอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะ
ให้ยาแก้ปวดชนิดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น
อาจต้องให้ยาเฉพาะสำหรับไมเกรน
ให้ยาแก้อาเจียน
ให้ยาป้องกันหากเป็นบ่อยจนรบกวนการดำเนินชีวิตประจำวัน การป้องกัน หลีกเลี่ยงสาเหตุที่กระตุ้นอาการปวดศีรษะ ปวดศีรษะจากความตึงเครียด (Tension-type headache) อาการปวดศีรษะจากความตึงเครียดนั้นเกิดจากการหดเกร็งตัวของกล้ามเนื้อ (muscle contraction) เป็นอาการปวดศีรษะเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุด ต่างจากไมเกรนคือมักปวดทั่วๆ ศีรษะ ปวดตื้อๆ แน่นๆ เหมือนถูกบีบรัด เป็นได้ทุกวันและไม่ถูกกระตุ้นด้วยการเคลื่อนไหว ไม่กลัวแสงหรือเสียง มักไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือมีเพียงเล็กน้อย มักมีอาการช่วงบ่าย มีความสัมพันธ์กับความเครียด อาจปวดเป็นชั่วโมงหรือเป็นวันก็ได้ เป็นได้ในทุกอายุ แต่มักเริ่มเป็นตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยหนุ่มสาว อาจพบปวดศีรษะทั้ง 2 ชนิด คือไมเกรนและความตึงเครียด ในคนเดียวกันก็ได้
อาการ
ปวดตื้อๆ แน่นๆ คล้ายถูกบีบรัด บริเวณขมับ กระหม่อม ท้ายทอย ต้นคอ
ปวดที่หนังศีรษะและกล้ามเนื้อต้นคอ
สาเหตุ ยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าสิ่งกระตุ้นอาการปวดศีรษะมีดังนี้
ความตึงเครียด เช่น ความโกรธ การเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทำงานหรือออกแรงหักโหมเกินกำลัง (over exertion)
อยู่ในท่าที่ไม่เหมาะสม (poor posture) เป็นเวลานาน
ภาวะซึมเศร้า
อดนอน
กล้ามเนื้อตาล้า (eye strain)
การดูแลตนเอง
ประคบเย็นบริเวณที่ปวด
อาบน้ำอุ่นหรือน้ำเย็น
นวดบริเวณศีรษะ ต้นคอ หัวไหล่
ออกกำลังกายชนิดผ่อนคลาย (relaxation exercises) ด้วยวิธียืดและคลายกล้ามเนื้อ (stretching exercises) เช่น กายบริหาร มวยจีน โยคะ
ลดหรือหยุดดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน
หลีกเลี่ยงแสงแดดจ้า สวมแว่นกันแดดเมื่อออกแดด
กินยาแก้ปวด
ปรึกษาแพทย์ ถ้ามีอาการดังต่อไปนี้
ปวดต่อเนื่องเป็นเวลานานและปวดบ่อยๆ
ปวดศีรษะร่วมกับมีไข้ คอแข็งก้มไม่ลง (อาจเป็นเยื่อหุ้มสมองอักเสบ) แขน ขา ชาหรืออ่อนแรง การมองเห็นหรือการพูดผิดปกติ (อาจเป็นโรคหลอดเลือดสมอง)
ออกแรงเพียงเล็กน้อยก็มีอาการปวดศีรษะ
การรักษาโดยแพทย์
แยกโรคร้ายแรงที่เป็นสาเหตุของอาการปวดศีรษะออกไปก่อน
ให้ยาคลายกล้ามเนื้อ
ให้ยาแก้ปวดที่ออกฤทธิ์แรงขึ้น
การป้องกัน
ฝึกผ่อนคลาย เช่น ทำสมาธิ ออกกำลังกายด้วยวิธียืดและคลายกล้ามเนื้อ (stretching exercises) ซึ่งสามารถทำได้ในที่ทำงาน เช่น กายบริหาร
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
หลีกเลี่ยงสภาวะที่ทำให้เครียด
นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน (เช่น ชา กาแฟ)
หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแดดเป็นเวลานาน พยายามอยู่ในร่มในวันที่แดดแรง สวมแว่นกันแดดทุกครั้งที่ออกแดด นอกจากนี้ยังพบการปวดศีรษะที่เรียกว่า Analgesic headache คืออาการปวดศีรษะที่เกิดจากการใช้ยาแก้ปวดหรือยารักษาไมเกรนที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะยากลุ่ม ergot derivative ที่มีสาร caffeine ผสมอยู่ ผู้ที่กินยาแก้ปวดขนาดต่ำๆ ทุกวัน มีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ที่กินขนาดสูงแต่ไม่บ่อย มักพบในผู้ที่ซื้อยาแก้ปวดที่ผสม caffeine กินเองและกินถี่กว่า สัปดาห์ละ 1-2 วัน
อาการ
ปวดศีรษะที่มีความถี่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รูปแบบของการปวดเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ปวดศีรษะสลับกันระหว่างไมเกรนและที่เกิดจากยาแก้ปวด
ปวดศีรษะเกิน 15 วันต่อเดือน และปวดนานเกิน 4 ชั่วโมงต่อครั้งถ้าไม่รักษา
ต้องกินยาแก้ปวดแทบทุกวัน เพื่อระงับการปวดที่ไม่ได้เกิดจากไมเกรน
การป้องกัน
ไม่กินยาแก้ปวดเกินเดือนละ 15 วัน การรักษา
หยุดยาแก้ปวดทั้งหมด (หลังหยุดยา 2-3 สัปดาห์ อาการปวดก็จะลดลงชัดเจน)
เปลี่ยนเป็นยาแก้ปวดขนานอื่น โดยปรึกษาแพทย์
5/01/2008
ปวดศรีษะ
Posted by
udomphol dormitery
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment